บ่วง“จริยธรรม”รัดคอ “อุ๊งอิ๊ง”ไปต่อลำบาก!?

 

แพทองธาร ชินวัตร - สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

กลายเป็นว่าเวลานี้ สำหรับน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว นั้นถือว่าเส้นทางการเมืองข้างหน้าค่อนข้างตีบตันแล้ว เพราะอย่าว่าแต่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี ที่ไม่น่าจะหวนกลับมาได้แล้ว แม้แต่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ที่หลายคนมองว่าเป็นเก้าอี้สำรอง เป็นแท็กติกชั่วคราว ก็น่าจะเป็นไปได้ยากแล้ว เพราะสิ่งที่ น.ส.แพทองธาร กำลังเจออยู่เวลานี้ก็คือเรื่อง“ความผิดด้านจริยธรรมอย่างร้ายแรง” ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีความเห็นจากนักฎหมายที่น่าสนใจ และมีน้ำหนักอย่าง นายวัส ติงสมิตร นักวิชาการอิสระ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และอดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โพสต์ข้อความ ในเฟซบุ๊กให้ความเห็นว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร สามารถถูกถอดถอนจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมได้ เพราะเข้าข่ายทำลายความไว้วางใจที่รัฐมนตรีได้รับจากมหาชน ไม่ใช่การดำเนินคดีซ้ำ ซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

จากคดีคลิปหลุด กรณี แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย สนทนาทางโทรศัพท์กับ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา และอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชาหลายสิบปี เกี่ยวกับปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา และศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์รับคำร้องไว้พิจารณา และมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 สั่งให้แพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป ในขณะที่ก่อนหน้านั้น 1 วัน มีโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ โดยแพทองธาร ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมด้วย นั้นมีปัญหาว่า ภายหลัง แพทองธาร เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 แล้ว จะสามารถยื่นถอดถอนแพทองธาร ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีดังกล่าว ได้หรือไม่ โดยมีความเห็นดังนี้

1) หลักห้ามดำเนินคดีซ้ำ (หลัก “ne bis in idem” ในภาษาละติน หรือ “double jeopardy” ในภาษาอังกฤษ) ปรากฏชัดเจน ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย ว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)) ซึ่งสอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ว่า บุคคลย่อมไม่ถูกพิจารณา หรือลงโทษซ้ำ ในความผิดซึ่งบุคคลนั้นต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ หรือให้ปล่อยตัวแล้วตามกฎหมาย และวิธีพิจารณาความอาญาของแต่ละประเทศ (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 วรรค 7)

2) ส่วนการถอดถอนรัฐมนตรี รวมทั้งนายกรัฐมนตรี โดยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญในปัญหาคุณสมบัติของรัฐมนตรีว่า “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” และมีลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีว่า “ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” หรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินคดีซ้ำ ในการกระทำเดิม ซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

3) อาจกล่าวได้ว่า เหตุแห่งการให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญไทย มาจากการทำลายความไว้วางใจที่รัฐมนตรีได้รับจากมหาชน (the abuse or violation of some public trust) คล้ายกับการ Impeachment หรือ การถอดถอน ของสหรัฐอเมริกา อันเป็นกระบวนการทางรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาสหรัฐฯ สามารถใช้อำนาจในการฟ้องร้องและถอดถอนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลกลาง รวมถึงประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และเจ้าหน้าที่พลเรือนอื่นๆ หากพบว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายความผิดร้ายแรง


4) แพทองธาร จึงสามารถถูกถอดถอนจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ด้วยเหตุขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงได้ เพราะเข้าข่ายทำลายความไว้วางใจที่รัฐมนตรีได้รับจากมหาชน (the abuse or violation of some public trust) ไม่ใช่การดำเนินคดีซ้ำ ซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

แน่นอนว่า อีกไม่กี่วันข้างหน้าจะต้องมีคนไปยื่นถอดถอน น.ส.แพทองธาร ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม อย่างแน่นอน ซึ่งเวลานี้ “กลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย” ได้จองกฐินกันเรียบร้อยแล้ว ว่าจะไปยื่นเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งก็คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะร่วมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณ หรือไม่ เพราะมีคนท้วงติงมาแล้วว่าทำไม่ได้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ “รัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” ไปแล้ว ซึ่งถือว่ายังมีปัญหาว่าทำได้หรือไม่ และที่สำคัญ เธอถูกร้องเรื่อง “จริยธรรม” นั่นคือ มี “พฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ และสำหรับนักการเมืองจริยธรรมของนักการเมืองต้องสูงกว่ามาตรฐานทางกฎหมาย

ขณะเดียวกัน แม้ว่าในที่สุดแล้วอาจจะไม่แคร์แบบไปตายเอาดาบหน้า นั่นคือ รอให้ถูกร้องขึ้นไปก่อน ค่อยว่ากัน โดยหลังจากนี้ ก็จะย้ายมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม แต่รับรองว่าจะไม่เหลือความสง่างาม เหลือเครดิตติดตัวอีกต่อไป จะเป็นรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพมากที่สุด ถูกเขย่าทุกทาง ทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งภายในก็คือ บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลเอง
ในเมื่อรัฐบาลมีเสียง “ปริ่มน้ำ” ทุกเสียง ทุกพรรค ย่อมเป็นตัวแปรต่อรองได้ทั้งหมด ทำให้รัฐบาลไม่มีเวลาที่จะแก้ปัญหา หรือออกนโยบายสำคัญได้เลย และด้วยฝีมือและความสามารถในการบริหารของ น.ส.แพทองธาร ที่ผ่านมาก็เห็นประจักษ์กันแล้ว ว่าเป็นอย่างไร ทุกอย่างก็จะยิ่งหนักหนาสาหัสกว่าเดิมหลายเท่า 

นี่ยังไม่นับกรณีที่มีเผยชื่อรัฐมนตรีตำแหน่งใหม่ในรัฐบาลชุดใหม่ ที่ออกมาแล้วล้วนแล้วทำให้ “สิ้นหวัง” เพิ่มขึ้นไปอีก เพราะไม่ว่าทั้งคนเก่าและคนใหม่ ตำแหน่งใหม่ที่เพิ่มเข้ามา ล้วนให้ความหวังอะไรไม่ได้เลย เอาเป็นว่าตั้งแต่หัวแถวยันท้ายแถว ล้วนแล้ว “ล่อเป้า” สร้าง “กระแสยี้” ได้ดีทีเดียว

และเมื่อมีการเปิดเผยชื่อรัฐมนตรี ตั้งแต่รักษาการนายกรัฐมนตรีชั่วคราว อย่าง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และว่าที่รักษาการนายกฯ ตัวจริงอย่าง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ล้วนมีแต่เสียง “ยี้”

ดังนั้นหากโฟกัสกันเฉพาะ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นับจากวันที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี ด้วยคำร้องเรื่องความด้านมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ทำให้แทบจะปิดทางในการกลับมาอีกครั้งไม่ว่าจะในฐานะนายกรัฐมนตรี หรือแม้แต่นักการเมืองก็ตีบตันแล้ว เพราะถือว่าร้ายแรง และทำลายศักดิ์ศรีของประเทศจนป่นปี้ไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องจับตารัฐบาลชุดใหม่ หลังการปรับคณะรัฐมนตรีแล้ว จะไปต่อกันอย่างไร ในเมื่อเผยชื่อออกมาแล้วไร้ความหวัง ไม่สามารถปลุกความเชื่อมั่นได้เลย ยิ่งในภาวะวิกฤตรอบด้านแบบนี้ แทบจะหาทางออกไม่เจอแล้ว !!